Media Converter คืออะไร มีกี่ประเภท และมีหลักการทำงานอย่างไร

Media Converter คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เเปลงสัญญาณไฟฟ้า (Electrical Signals) ในระบบแลน (Ethernet LAN) ให้เป็นสัญญาณเเสงหรือสัญญาณภาพ (Optical Signals) เพื่อให้สัญญาณนั้นสามารถส่งผ่านไปในตัวกลางประเภทใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) ได้

ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Media Converter

ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ไม่ได้เชื่อมต่อเพียงแค่คอมพิวเตอร์เข้ากับคอมพิวเตอร์ แต่ทุกวันนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายที่เชื่อมต่ออยู่ในระบบเครือข่าย LAN หรือ Ethernet อาทิเช่น กล้องวงจรปิดแบบ IP Camera ที่ใช้สอดส่องความปลอดภัย, อุปกรณ์ด้าน Access Control, อุปกรณ์ PLC (Programmable Logic Controller หรืออุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรทางอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติ) และอีกหลากหลายอุปกรณ์ที่รองรับ Ethernet LAN

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้ อาจอยู่ห่างไกลกันเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซึ่งเกินวิสัยที่สาย LAN หรือสายสัญญาณแบบ UTP (Unshielded Twisted Pair Cable) จะรองรับได้ จำเป็นต้องใช้สายสัญญาณประเภท Fiber Optic Cable หรือใยแก้วนำแสงเข้ามาทำหน้าที่ แต่การเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากอุปกรณ์สำคัญที่เรียกว่า Media Converter

บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับ Media Converter ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีให้เลือกใช้งานแบบไหนบ้าง

Media Converter คืออะไร?

Media Converters หรือ Ethernet Media Converter คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เเปลงสัญญาณไฟฟ้า (Electrical Signals) ในระบบแลน (Ethernet LAN) ให้เป็นสัญญาณเเสงหรือสัญญาณภาพ (Optical Signals) เพื่อให้สัญญาณนั้นสามารถส่งผ่านไปในตัวกลางประเภทใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) ได้

Media Converters เป็นตัวแปลงสัญญาณที่นิยมใช้งานในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network) เช่น ระบบโทรคมนาคม, เครือข่าย Broadband, ระบบควบคุมเครื่องจักรในอุตสาหกรรม, ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ (BAS : Building Automation System) ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ เช่น IP Phone, IP Camera, Sensor, อุปกรณ์ Access Control และอุปกรณ์ PLC (Programmable Logic Controller)

Media Converter เป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณที่ประหยัด ราคาไม่สูง มีขนาดเล็ก ไม่กินพื้นที่ และสามารถติดตั้งได้ง่าย แต่ละรุ่นจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ความเร็วที่รองรับสำหรับการรับส่งข้อมูล เช่น ความเร็ว 10/100Mbps หรือ 10/100/1000Mbps(Gigabit) ไปจนถึงความเร็วสูงสุดที่ 10Gb รวมทั้งมีความแตกต่างกันในแง่ของระยะทางสูงสุดที่รองรับในการรับส่งข้อมูลด้วย เช่น 550m, 10km, 20km, 40km, 60km ไปจนถึง 120km

ทำไมต้องใช้ตัวแปลงสัญญาณไฟฟ้า?

เนื่องจากการส่งสัญญาณข้อมูลผ่านทางสาย LAN หรือสาย UTP มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง คืออยู่ที่ระยะสั้นประมาณไม่เกิน 100 เมตร แต่ระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์บางโครงข่ายอาจมีอุปกรณ์ต้นทางและปลายทางอยู่ห่างกันเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไกลเช่นนั้น จำเป็นต้องใช้ตัวกลางประเภทใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ซึ่งเป็นตัวกลางที่มีความสามารถในการส่งสัญญาณเป็นระยะทางที่ไกลกว่า โดยมีค่า Loss น้อย และการลดทอนสัญญาณที่ต่ำมาก (Low Attenuation) เมื่อเทียบกับสายทองแดง รวมทั้งให้ความเร็วที่สูงกว่าด้วย

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องแปลงสัญญาณไฟฟ้าจากอุปกรณ์ในเครือข่าย ให้เป็นสัญญาณแสง เพื่อให้สามารถส่งผ่านไปในสายไฟเบอร์ออปติกได้ และอุปกรณ์ Media Converter ก็คืออุปกรณ์ที่มีบทบาทในการแปลงสัญญาณไปมาระหว่างสัญญาณไฟฟ้าและสัญญาณแสงนั่นเอง โดยส่วนประกอบที่มีความสำคัญสำหรับการทำงานในส่วนนี้ ก็คือส่วนประกอบที่เรียกว่า Optical Transceiver Module

Optical Transceiver Module คืออะไร?

Transceiver Module คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นได้ทั้งตัวส่งและตัวรับ (Transmitter and Receiver) สัญญาณแสง (Optical Signals) โดยสามารถแปลงสัญญาณข้อมูลให้เป็นแสงเลเซอร์ (Laser Optic Light) เพื่อส่งออกไป หรือรับสัญญาณแสงเข้ามาแล้วแปลงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า (Electrical Signals) ตัวโมดูลรับส่งสัญญาณแสงมีขนาดเล็ก สามารถเสียบ หรือ plug เข้ากับกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น Switch, Router หรือ Media Converter ผ่านทางพอร์ตที่รองรับ

Media Converter โดยส่วนใหญ่มักมี Transceiver Module ติดตั้งหรือ build-in มาในตัว บางรุ่นก็ไม่มี Transceiver Module ติดตั้งมาด้วย แต่จะมี slot สำหรับไว้ให้ใช้เสียบโมดูล Transceiver เพิ่ม

โมดูล Transceiver แบบเก่าคือ GBIC (GigaBit Interface Card) ก็คือ Module Gigabit ลักษณะแบนๆ กว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาวสัก 2 นิ้ว หนาประมาณ 1/4 นิ้ว นิยมใช้กับ Media Converter รุ่นเก่า โดยมาตรฐานของ GBIC ก็จะมีอย่างเช่น GBIC 1000BASE-T, GBIC 1000BASE-SX, GBIC 1000BASE-LX เป็นต้น

แต่โมดูล Transceiver แบบใหม่ที่ใช้กันในปัจจุบันคือ SFP (Small-Form-Factor Pluggable) ซึ่งมีขนาดและรูปร่างที่เล็กกว่า GBIC เดิม ทำให้มีการเรียกกันว่า Mini-GBIC (ดังนั้น SFP และ Mini-GBIC คือสิ่งเดียวกัน) ลักษณะ function การทำงานเหมือนกับ GBIC
Media Converter หรือ Switch รุ่นใหม่จะใช้ Module Gigabit แบบนี้แทน เพราะมีขนาดเล็กกว่าและกินไฟน้อยกว่าด้วยมาตรฐานของ SFP Transceiver ก็จะมีอย่างเช่น SFP 1000BASE-SX, SFP 1000BASE-LX, SFP 1000BASE-LH

โมดูล Transceiver เป็นตัวกำหนดระยะการส่งสัญญาณว่าจะส่งได้ไกลแค่ไหน เช่น หากเป็นรุ่นที่รองรับระยะทาง 20km หมายความว่า สามารถส่งสัญญาณแสงผ่านสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกในระยะทาง 20 กิโลเมตรได้โดยสัญญาณไม่มีการสูญเสีย

  • SFP 1000BASE-S
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Multimode (GLC-SX-MM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 220-550 เมตร
  • SFP 1000BASE-LX
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Multimode (GLC-LX-MM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 550 เมตร
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Single mode (GLC-LX-SM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 5 กิโลเมตร
  • SFP 1000BASE-LH
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Single mode (GLC-LH-SM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 5 กิโลเมตร
  • SFP 1000BASE-LX10
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Single mode (GLC-LX10-SM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 10 กิโลเมตร
  • SFP 1000BASE-ZX
    ใช้กับสาย Fiber Optic Cable ชนิด Single mode (GLC-ZX-SM) จะใช้งานได้ดีที่ระยะทาง 70 กิโลเมตร

ราคาโดยประมาณของ SFP Transceivers ขึ้นอยู่กับสเปคของแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ด้านล่างเป็นราคาโดยประมาณ ราคาจริงอาจจะสูงหรือต่ำกว่านี้
– SFP 1000Base-SX (Mini-GBIC) ราคาประมาณ 9,500 บาท
– SFP 1000Base-LX/LH ราคาประมาณ 25,000 บาท
– SFP 1000Base-ZX ราคาประมาณ 122,000 บาท

Media Converter ทำงานอย่างไร?

ตัว Media Converter จะมีพอร์ตสำหรับเชื่อมต่ออย่างน้อยสองพอร์ต ประเภทของพอร์ตที่อยู่บนตัว Media Converter ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวแปลงชนิดใด เช่น

Media Converter ประเภทแปลงจากไฟเบอร์เป็นทองแดง (Copper-to-Fiber Media Converter) ก็จะมีพอร์ต ST/SC/FC สำหรับเสียบสายไฟเบอร์ออปติกหรือตัว Optical Transceiver Module (SFP/Mini-GBIC) และพอร์ต RJ45 สำหรับเสียบสายแลน (โดยทั่วไปมักมีช่องสัญญาณ RJ45 พอร์ตเดียว แต่ก็มีบางรุ่นผลิตออกมาให้มีช่องสัญญาณ RJ45 จำนวน 2 พอร์ต)

อุปกรณ์ Media Converter ที่อยู่ต้นทางจะทำหน้าที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าจาก Interface แบบ RJ45 ให้เป็นสัญญาณแสง (Optical Signals) และส่งสัญญาณนั้นผ่านทางสาย Fiber Optic Cable เมื่อสัญญาณไปถึงอุปกรณ์ Media Converter ที่อยู่ปลายทาง ก็จะถูกแปลงกลับมาเป็นสัญญาณไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง และถูกส่งต่อไปผ่านสาย LAN หรือ Ethernet LAN

รูปแบบการสื่อสารสัญญาณบนสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ

1. Full-duplex

Media Converter ประเภทนี้จะมีช่องเสียบแยกสองพอร์ต คือ พอร์ทหนึ่งเป็น Tx (Transmitter) ส่วนอีกพอร์ทเป็น Rx (Receiver) สำหรับสายไฟเบอร์ออฟติกชนิด Multimode (MM) ที่มี 2 Core โดยมี Connector ที่นิยมคือแบบ SC, ST และ FC

การรับส่งสัญญาณจะใช้ความยาวคลื่นแสงที่ 850 nm, 1310 nm, 1490 nm, 1550 nm แล้วแต่กำหนดที่ตัว Media Converter

Media Converter แบบแยก 2 พอร์ต
อุปกรณ์แปลงสัญญาณแบบ Full-duplex

2. WDM (Wavelength-division Multiplexing) หรือ Bidirectional (BIDI)

เป็นการส่งสัญญาณผ่านสายไฟเบอร์ออฟติกเส้นเดียว Media Converter ประเภทนี้จะมีช่องเสียบ 1 Core สำหรับสายไฟเบอร์ออฟติกชนิด Single-mode (SM)

การสื่อสารจะเป็นแบบ Half-duplex โดยหลักในการทำงาน คือ Media Converter สองฝั่งจะรับส่งสัญญาณแสงแบบสวนทางผ่านสาย 1 Core ด้วยความถี่หรือความยาวคลื่น (Wavelength) ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น

สมมติว่า Media Converter ที่อยู่สองฝั่ง คือ A และ B

A จะใช้ค่าความถี่การส่งข้อมูล (Tx) ที่ความยาวคลื่นแสง 1310 nm (นาโนเมตร) และค่าความถี่การรับข้อมูล (Rx) ที่ 1550 nm
B จะใช้ค่าความถี่การส่งข้อมูล (Tx) ที่ความยาวคลื่นแสง 1550 nm (นาโนเมตร) และค่าความถี่การรับข้อมูล (Rx) ที่ 1310 nm

โดยทั่วไปแล้วในเทคโนโลยี WDM การใช้ความถี่สองค่าตรงข้ามกันนี้ (1310 nm และ 1550 nm) ช่วยให้สามารถส่งข้อมูลในระยะทางที่ไกลกันได้โดยไม่มีการชนกัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลในเครือข่าย ทั้งยังประหยัดสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกได้ดี และยังสามารถใช้งานได้หลากหลายระบบ Applications (ขึ้นอยู่ตัว Transceiver) แต่ข้อเสียของอุปกรณ์ทั้ง Media converter หรือ SFP transceiver แบบ Single Fiber ก็คือ ราคาแพงกว่าแบบทั่วไปที่เป็น Dual Fibe

การลิงก์สัญญาณแบบ Half-duplex เพียงพอต่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์อย่างเช่น IP Camera แต่สำหรับงานด้านระบบ Network อาจจะเหมาะสมกับ Media Converter แบบ Full-duplex เนื่องจากการลิงก์สัญญาณแบบ Half-duplex จะได้ Bandwidth ที่แคบกว่า

ประเภทของตัวแปลงสัญญาณไฟฟ้า แบ่งออกเป็นกี่แบบ (Ethernet Media Converter)

อุปกรณ์เเปลงสัญญาณ หรือ Media Converter มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติและลักษณะการใช้งานที่เเตกต่างกัน โดยเราอาจแบ่งออกได้คร่าวๆ เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • Copper-to-Fiber Media Converter
    Media Converter ประเภทนี้มีความสามารถในการแปลงสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นสัญญาณ Optical ใช้เป็นตัวกลางเชื่อมต่ออุปกรณ์ Ethernet ซึ่งใช้สายทองเเดง (RJ-45) เข้ากับสาย Fiber Optic Cable (SC, LC หรือ ST) สำหรับการส่งสัญญาณทางไกล
  • Fiber-to-Fibre Media Converter
    ใช้เชื่อมต่อระหว่างสาย Fiber Optic Cable ต่างชนิดกัน เช่น เชื่อมต่อสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกเเบบ Multimode (MM) กับสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกเเบบ Single-mode (SM) นอกจากมีความสามารถในการแปลงโหมดแล้ว ยังมีความสามารถในการเเปลงความยาวคลื่น (Wavelength) ได้อีกด้วย
  • Managed Converter
    เป็น Media Converter ที่มีระบบการจัดการสำหรับใช้ควบคุมและดูแลการทำงานของตัว Media Converter และสามารถปรับแต่งและกำหนดค่าการทำงาน (Configure) ได้ รวมถึงยังสามารถรายงานความผิดพลาดหรือแจ้งเตือนปัญหาการเชื่อมต่อให้ผู้ดูเเลระบบรับทราบ เพื่อจะได้เข้าไปจัดการเเก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และรักษามาตรฐานการเชื่อมต่อซึ่งแตกต่างจาก Media Converter ทั่วไปแบบ Unmanaged ที่จะเน้นความง่ายในการติดตั้ง มีแค่ฟังก์ชันการรับ-ส่ง และเเปลงสัญญาณเท่านั้น
    ตัวอย่างฟีเจอร์ที่มี ได้แก่ การจัดการระยะไกล (Remote Management), VLAN Support, Link Fault Pass-Through (LFP), Auto Negotiation, Auto MD บนพอร์ต TX, ไฟ LED บอกสถานะการทำงานของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ
    เหมาะสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรขนาดกลางไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ Ethernet จำนวนมาก และต้องการระบบสังเกตการณ์เพื่อให้อุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานได้ตามปกติ
  • Fast Media Converter
    คือ Media Converter ซึ่งมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดไม่เกิน 100 Mbps (10/100 Mbps) เหมาะสำหรับการใช้งานกับอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สปีดในการรับส่งข้อมูลสูงมาก เช่น กล้องวงจรปิดชนิด IP Camera เป็นต้น
  • Gigabit Media Converter
    เป็น Media Converter ที่มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงระดับ Gigabit (10/100/1000 Mbps) ออกแบบมาสำหรับการใช้งานกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันโดยเฉพาะ เนื่องจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีความเร็วเกิน 100Mbps กันแล้ว Gigabit Media Converter จึงเหมาสำหรับการลิงก์สัญญาณที่มีความเร็วเกิน 100Mbps ไปอีกจุดนึงหรือหลายๆ จุดที่มีระยะเกินกว่าที่สายแลนจะทำงานได้
    ในหลายกรณี Gigabit Media Converter ถูกใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเครือข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วเข้ากับเครือข่าย Gigabit Ethernet เพื่อขยายเครือข่ายความเร็วสูงเข้ากับเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก
  • PoE Media Converter
    Media Converter ประเภทนี้ นอกจากสามารถรับส่งข้อมูลได้แล้ว ยังสามารถจ่ายกระแสไฟผ่านสายอีเทอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์ประเภท PoE-enabled ที่เชื่อมต่อได้ด้วย เช่น กล้อง IP cameras หรืออุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Wireless Access Point) ช่วยให้ไม่ต้องยุ่งยากในการเดินสายไฟแยกต่างหากไปยังอุปกรณ์เหล่านี้
  • Industrial Media Converter
    ออกแบบมาสำหรับการใช้งานในในพื้นที่และสภาพแวดล้อมเชิงอุตสาหกรรม เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการที่ต้องการการสื่อสารระยะไกลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Media Converter เกรดอุตสาหกรรมมีคุณลักษณะที่ทนทาน เช่น ทนอุณหภูมิสูงและต่ำมากๆ ได้, กันฝุ่นและน้ำ และทนต่อการรบกวนของสนามแม่เหล็กหรือสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า ซึ่ง Media converter ธรรมดาที่ใช้ในบ้านหรืออาคารสำนักงานทั่วไป จะไม่เหมาะกับการใช้งานในสภาวะเหล่านี้
    นอกจากนี้ Media Converter เกรดอุตสาหกรรม ยังมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร เพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหายจากมดหรือแมลง รวมถึงความร้อนสะสมในสภาวะกลางแจ้งด้วย

ตัวแปลงสัญญาณไฟฟ้าสำคัญอย่างไร?

Media Converter เป็นอุปกรณ์เเปลงสัญญาณที่มีฟังก์ชันหลายอย่าง โดยมันจะช่วยให้ระบบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ Ethernet ในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ยังมีประโยชน์อื่นๆอีก โดยข้อดีของ Media Converter มีรายละเอียดด้วยกัน ดังนี้

1. ช่วยขจัดปัญหาและข้อจำกัดด้านระยะห่างของอุปกรณ์ให้หายไป
2. มีขนาดเล็ก ติดตั้งได้ง่าย
3. ป้องกันสัญญาณข้อมูลจากสิ่งรบกวนต่างๆ การรบกวนของสนามแม่เหล็กหรือสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า
4. ช่วยให้ส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ เช่น จาก 10 Mbps ไปเป็น 100 Mbps หรือจาก 100 Mbps เป็น 1000 Mbps
5. ประหยัดต้นทุนในการขยายเครือข่าย เพราะสามารถเพิ่มเติมเครือข่ายไฟเบอร์เข้ากับเครือข่าย Ethernet Lan เดิมที่มีอยู่ได้

การเลือกใช้งานตัวแปลงสัญญาณไฟฟ้า

การเลือกอุปกรณ์ Media converter มาใช้งานนั้น ต้องพิจารณาถึง Applications ที่ใช้ และระดับการใช้งานที่ต้องการ รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพื่อให้สามารถออกแบบรูปแบบการเชื่อมต่อและเลือกใช้งานอุปกรณ์ให้เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

ข้อพิจารณาเบื้องต้นได้แก่

  • ประเภทของสาย Fiber Optic ที่จะมาเชื่อมต่อเป็นแบบ Single Mode (SM) หรือ Multimode (MM)
  • รองรับ Full-duplex หรือ Half-duplex หรือรองรับทั้งคู่
  • จำนวนพอร์ตที่ต้องการใช้
    Media Converter ส่วนใหญ่มีช่องสัญญาณไฟเบอร์หนึ่งช่อง และช่องสัญญาณ RJ45 หนึ่งช่อง แต่บางรุ่นอาจจะมีมากกว่านั้น เช่น ช่องสัญญาณไฟเบอร์ 1-2 ช่อง และช่องสัญญาณ RJ45 4 ช่อง
  • หัวเชื่อมต่อ (Fiber Optic Connector) ที่ใช้เสียบเข้า Media Converter เป็นแบบใด (SC, LC)
    ในกรณีที่ใช้กับเครื่องจักรทางอุตสาหกรรม, อุปกรณ์ควบคุม, เครื่องวัดทางอุตสาหกรรม ต้องพิจารณาด้วยว่าอุปกรณ์จำพวกนี้ใช้หัวเชื่อมต่อแบบใด (RS232, RS 422, RS485)
  • ระยะทางในการเดินสายสัญญาณเป็นระยะเท่าใด กี่เมตร หรือกี่กิโลเมตร
  • อัตราความเร็วของข้อมูล (Data Rate) ที่ต้องการคือเท่าใด 10M, 100M, 1000M, 10/100M หรือ 10/100/1000M
  • สภาพแวดล้อมในการใช้งานเป็นอย่างไร เช่น อุณหภูมิในจุดติดตั้ง, ใช้งานแบบ Indoor หรือ Outdoor
  • มาตรฐานการสื่อสารที่รองรับ เช่น IEEE 802.3, IEEE 802.3u, IEEE802.3z, IEEE802.3ab, IEEE 802.3xauto-negotiation

ตัวแปลงสัญญาณ Media converter นั้นจะใช้งานในระบบเล็กๆ หรือระบบใหญ่ก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นการใช้งานเพื่อเชื่อมต่อกับปลายทางที่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงจำนวนไม่มาก (1-2 ตัว) แต่หากอุปกรณ์ปลายทางที่ต้องการต่อพ่วงมีจำนวนมาก ก็อาจใช้ Network Switch Hub (เช่น Switch HUB 4 หรือ 8 Port RJ45) ต่อเข้ากับ Media converter ได้ เพื่อขยายจำนวนพอร์ต

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ต่อพ่วง Media converter เข้ากับอุปกรณ์จำนวนมาก เพราะ Media converter นั้นมีข้อจำกัด คือ ไม่มี Buffer Memory หรือ Switching Capacity / Forwarding Rate สูงเท่า Network Switch Hub (ทั้งแบบ Unmanaged และ Managed) ที่สามารถแบ่งระดับความเร็วและมี Switching Capacity รองรับการส่งข้อมูลจำนวนมากๆ ไม่ให้ติดขัดได้ ในกรณีที่อุปกรณ์ปลายทางที่ต้องการต่อพ่วงมีจำนวนมาก อาจพิจารณาเปลี่ยนจาก Media converter ให้เป็น Network Switch Hub ไปเลย เพื่อรองรับการส่งข้อมูลที่มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน Network Switch Hub หลายรุ่นของผู้ผลิตก็มีพอร์ตที่รองรับการเชื่อมต่อกับสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติก

การสื่อสารผ่านสายสัญญาณ Fiber Optic Cable มีข้อดีอยู่หลายประการ ทั้งในแง่ที่มีการลดทอนสัญญาณและค่า Loss ต่ำ มีค่าความต้านทานสูง ทนต่อการรบกวนของสนามแม่เหล็กหรือสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า รวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าสายสัญญาณทองแดงแบบดั้งเดิม แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจาก Media Converter ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญและมีประโยชน์ยิ่งต่อการส่งข้อมูลออกไปในระยะทางไกลผ่านระบบเครือข่าย Fiber Optic โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Media Converter ชนิด Copper-to-Fiber ซึ่งมีการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์ Media Converter ชนิดต่างๆ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท โฟคอมม์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร : 02-973-1966
Admin : 063-239-3569
E-mail : info@focomm-cabling.com