เทคโนโลยี Passive Optical LAN (POL) จาก Furukawa Electric
BICSI ได้ระบุไว้ว่า เทคโนโลยี Passive Optical LAN เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Point to Multi-point ซึ่งมีอุปกรณ์ Splitter เป็นตัวช่วยกระจายสัญญาณไปยังหลายๆ ปลายทางได้ ทั้งนี้อุปกรณ์ Splitter ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน
Passive Optical LAN ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบัน เพราะมีบริษัทจำนวนมากที่ได้เริ่มผลิตสินค้าด้านเครือข่ายนี้แล้ว โดยหากเจาะลึกให้เห็นภาพขึ้น กล่าวได้ว่า POL คือการนำเอาเทคโนโลยี Passive Optical Network (PON) ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตบ้าน มาใช้ในระดับองค์กรเพื่อทดแทนการใช้งานสายทองแดง เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม และนำข้อดีจากระบบไฟเบอร์ออปติกมากสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีมากขึ้น
จากภาพเปรียบเทียบระหว่าง Traditional Network หรือ Ethernet แบบเดิมจะเห็นว่า การเชื่อมต่อระหว่างทางของ Ethernet จะถูกแทนที่ด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ตัว คือ OLT, Splitter และ ONT ส่วนสายทองแดงจะเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ออปติก ซึ่งจะมีความโดดเด่นของ POL เมื่อเทียบกับระบบเดิม คือ
1. เครือข่ายแบบเดิมมีลักษณะการทำงานแบบ Point-to-Point คือการเชื่อมต่อระหว่าง Core Switch, Distributed Switch และ Access Switch จะมีสายทองแดงมากมายในลักษณะจุดต่อจุด จึงเป็นต้นกำเนิดของค่าใช้จ่ายที่สูงในจำนวนของสาย ผนวกกับข้อจำกัดในเรื่องระยะทางยิ่งทำให้ต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างทางเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่องของการวางรางและท่อในการติดตั้งเพิ่มเติมอีกด้วย
2. ตัว Splitter ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า หมายความว่าความอ่อนไหวเรื่องการเสื่อมสภาพในระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ลดลงไปอย่างมาก เช่น การวางระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิ จัดหาห้องสำหรับวางอุปกรณ์ทำให้สูญเสียพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ หรือจัดหาระบบสำรองไฟ ความยุ่งยากเหล่านี้จะหายไปในระบบ POL
3. OLT เพียง 1 ตัว สามารถรองรับ ONT ได้นับพันตัว เพราะถูกกระจายสัญญาณด้วย Splitter เช่น สัญญาณเข้า 1 ออก 32 และตัว Splitter สามารถวางในรูปแบบของลำดับชั้นได้อีก นั่นหมายถึงการลดต้นทุน เมื่อเทียบกับ Distribute Switch ที่มีพอร์ตไม่มาก
4. POL ได้มีการใช้งานไฟเบอร์ออปติกแบบ Single Mode กล่าวคือระยะเดินทางของสายจะไปได้สูงถึง 20 กิโลเมตร และอย่างที่กล่าวไปคือการรองรับอนาคตด้วยความเร็วระดับ Terabit ซึ่งอนาคตอันใกล้แม้อุปกรณ์เครือข่ายที่ประมวลผลได้ระดับ 400 Gbps หรือ 800 Gbps จะเกิดขึ้นจริง องค์กรก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนอัปเกรตสายรุ่นใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นในสายทองแดงอย่างที่แล้วมาให้วุ่นวาย
อุปกรณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของ POL มีการทำงานร่วมกันดังนี้
OLT (Optical Line Terminal) เป็นเสมือน Core Switch ซึ่งสามารถต่อกับอุปกรณ์ Switch และ Router แบบเดิมได้ ทั้งนี้จะมีอินเทอร์เฟสที่เป็นไฟเบอร์ออปติกไปหา Splitter ซึ่ง OLT จะส่งข้อมูลผ่านไฟเบอร์ออปติกด้วยสัญญาณแสง 2 ช่วงคลื่นในสายเส้นเดียวกัน
เมื่อ Splitter รับสัญญาณเข้ามาแล้วจะมีกระจายสัญญาณแสงในลักษณะของการ Broadcast ไปยัง ONT ที่จะเป็นตัวคัดกรองเอาข้อมูลเฉพาะส่วนเกี่ยวข้องของตนเท่านั้น ซึ่ง ONT เองยังมีอินเทอร์เฟสอย่าง RJ-45, Analog RJ-11 หรือ PoE ที่สนับสนุนการใช้งานได้เหมือนที่เราต่อเข้ากับอุปกรณ์ Switch แบบเดิม กลับกันในฝั่งส่งกลับข้อมูลจะถูกกลไกของ Time Division Multiplex รับข้อมูลปลายทางกลับยัง OLT
ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ คือการที่ไม่ต้องมีการแบ่งแยกข้อมูลระหว่าง Tx/Rx ลดความยุ่งยากที่เกิดขึ้นใน Ethernet แบบเก่านั่นเอง